จับตายุทธศาสตร์ K-Semiconductor แต้มต่อของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยสู่เวทีโลก

จับตายุทธศาสตร์ K-Semiconductor แต้มต่อของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยสู่เวทีโลก

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,922 view

 

ในทศวรรษที่ผ่านมาเซมิคอนดักเตอร์ได้กลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ แม้กระทั่งท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ภาคการส่งออกของเกาหลีใต้ยังสามารถฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ส่วนหนึ่งเพราะอุปสงค์ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจากที่ผู้คนต้องทํางานหรือใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น โดยในเดือน มกราคม 2564 มูลค่าการส่งออก memory chip ของเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 จากช่วงเดียวกันของ ปี 2563 ขยายตัวต่อเนื่องในระดับเลข 2 หลักเป็นเดือนที่ 5 และในปี 2563 ทั้งปี เกาหลีใต้ยังคงส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ในมูลค่ามากถึง 93.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.9 ของการส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้

.

ด้วยจุดแข็งของเกาหลีใต้ในอุตสาหกรรมดังกล่าว ประกอบกับแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่หันมาให้ความสําคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง เมื่อปลายปี 2563 รัฐบาลเกาหลีใต้จึงตัดสินใจประกาศที่จะเน้นการส่งเสริมและพัฒนา 3 อุตสาหกรรมหลัก (“Big 3 Industries”) ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ได้แก่ (1) เซมิคอนดักเตอร์ (2) ยานยนต์แห่งอนาคต และ (3) biohealth เพื่อปรับโครงสร้างภายใน ประเทศสู่เศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัลหรือสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ สอดคล้องกับนโยบาย Green New Deal และ Digital New Deal ที่ ประกาศเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเกาหลีใต้

.

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ประธานาธิบดี มุน แช-อิน ได้เปิดตัวยุทธศาสตร์ K-Semiconductor Strategy โดยประกาศว่าเป้าหมายของรัฐบาล คือ การก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และระบบเซมิคอนดักเตอร์ที่ทรงอิทธิพลของโลก (global semiconductor powerhouse) ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) โดยครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิต ออกแบบ และบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับมือกับภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในห่วงโซ่อุปทานโลก สืบเนื่องจากปริมาณการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มการผลิตและซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะร่วมมือกับภาคเอกชนเกาหลีใต้ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวใน 3 ด้านหลัก ดังนี้

.

  1. “K-Semiconductor Belt” – การสร้างสายพานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะประกอบด้วยการสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ และโรงงานสําหรับการบริหารจัดการ วัตถุดิบ อุปกรณ์ และการประกอบชิ้นส่วนหรือบรรจุหีบห่อ โดย Belt ดังกล่าวจะมีศูนย์กลางที่เมืองยงอิน จ.คยองกี ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์หลักของเกาหลีใต้ และจะขยายออกไปทางทิศตะวันตกสู่เมืองพังโย กีซึ่ง ฮวาซอง พยองเท็ค และองยาง และทางทิศตะวันออกไปสู่เมืองอิชอนและซองจู โดยบริษัท Samsung Electronics และ SK Hynix ได้สนับสนุน งบประมาณรวม 41.8 ล้านล้านวอน (37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีนี้เพื่อร่วมสร้าง Belt ดังกล่าวและมีแผนที่จะสนับสนุนอีก 510 ล้านล้านวอน (451 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตลอดระยะเวลาการดําเนินการตาม K-Semiconductor Strategy จนถึงปี 2573
  2. ภาษี – ปรับลดอัตราภาษีร้อยละ 50 สําหรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้าน R&D ลดลงถึงร้อยละ 30-40 สําหรับ บริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ และร้อยละ 40-50 สําหรับ SMEs รวมทั้งปรับลดภาษีร้อยละ 20 สําหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจ ส่งผลให้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทผู้ลงทุนลดลงร้อยละ 10-20 โดยขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัท
  3. เงินทุน – จัดตั้งกองทุนพิเศษมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านวอน (ประมาณ 886 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่ออํานวยความสะดวกให้กับการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งครอบคลุมค่าน้ำ (water supply) เป็นระยะเวลา 10 ปีให้กับนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น เมืองยิงอิน และพยองเท็ค

.

รัฐบาลเกาหลีใต้จะจัดทําการศึกษาความเป็นไปได้สําหรับการดําเนินโครงการต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์นี้ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยล่าสุด เมื่อกรกฎาคม 2564 BOI ประเทศไทยได้ประกาศแล้วว่า จะเร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศรายใหม่และสนับสนุนการขยายฐานการผลิตของรายเดิมในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์หรืออุปกรณ์สารกึ่งตัวนํา และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) โดยได้ปรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็นเวลา 8 ปี ทั้งนี้ จะต้องมีการลงทุนค่าเครื่องจักรอย่างน้อย 1,500 ล้านบาทขึ้นไป อนึ่ง สําหรับการลงทุนของเกาหลีใต้ในไทย บริษัท KEC (Korea Electronic Holdings) ได้จัดตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในไทยภายใต้บริษัท KEC (Thailand) Co., Ltd. ตั้งแต่ปี 2533

.

การขยายฐานการผลิตในภาคอุตสากรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้ ถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะธุรกิจด้านอุปกรณ์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์หรือรับช่วงต่อการผลิต ผู้สนใจควรติดตามพัฒนาการการขยายฐานการผลิตในภาคอุตสากรรมเซมิคอนดักเตอร์การขยายการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิดเพื่อหาโอกาสเป็นคู่ค้าหรือร่วมลงทุน ทั้งนี้ เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นชิ้นส่วนพื้นฐานที่สําคัญ ที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทอุตสาหกรรม S-Curve และอาจช่วยให้ไทยมีสัดส่วนการผลิตและส่งออกสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น

.

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง