ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,662 view
อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยในปีนี้ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ สาขาการแพทย์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก (Katalin Karikó, Ph.D.) จากฮังการี/สหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน (Drew Weissman, M.D., Ph.D.) จากสหรัฐอเมริกา และศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คัลลิส (Pieter Cullis, Ph.D.) จากแคนาดา
 
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ณ โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ นางซาราห์ เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย นางสาวออนนา บาลินท์ อุปทูตฮังการีประจำประเทศไทย และนายไมเคิล ฮีธ อุปทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย โดยผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ มีดังต่อไปนี้
สาขาการแพทย์ ได้แก่
๑) รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก (Katalin Karikó, Ph.D.) จากฮังการี/สหรัฐอเมริกา
๒) ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน (Drew Weissman, M.D., Ph.D.) จากสหรัฐอเมริกา
๓) ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คัลลิส (Pieter Cullis, Ph.D.) จากแคนาดา

รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยวิธีการนำเมสเซนเจอร์ อาร์เอนเอ (mRNA) มาใช้ในทางการแพทย์และนำเทคโนโลยีเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนต่อต้านโควิด-๑๙ ทั้งสองท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนโควิด-๑๙ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ทำให้เกิดวัคซีนโควิด-๑๙ ชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตอบสนองกับการระบาด ทำให้สามารถลดการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดในประเทศต่างๆ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย รวมถึงชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คัลลิส เป็นผู้บุกเบิกงานด้านอนุภาคไขมัน ลิปิดนาโนพาร์ติเคิล ซึ่งมีการใช้ในทางการแพทย์ในลักษณะต่าง ๆ และได้มีการนำมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งกำลังใช้ในการควบคุมการแพร่จะบาดของโรคโควิด-๑๙ อยู่ในปัจจุบัน ผลงานของศาสตราจารย์ คัลลิส นอกจากจะทำให้มีการพัฒนาวัคซีนโควิด-๑๙ ได้สำเร็จแล้ว ยังทำให้มีวิธีการที่จะนำกรดนิวคลิอิกเข้าสู่เซลล์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเปิดความเป็นไปได้อีกมากมายในการนำเทคโนโลยีกรดนิวคลิอิคมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ในอนาคต ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตของมนุษย์หลายร้อยล้านคนทั่วโลก

 
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ