เกาหลีใต้ไม่หวั่น งัดไม้เด็ดสู้ภาวะเงินเฟ้อ!

เกาหลีใต้ไม่หวั่น งัดไม้เด็ดสู้ภาวะเงินเฟ้อ!

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 ส.ค. 2565

| 4,077 view

การรับมือปัญหาเงินเฟ้อของเกาหลีใต้

             เกาหลีใต้กำลังเผชิญภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 20 ปี สืบเนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งมีสาเหตุมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ ก๊าซ และสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ รายงานว่า ในเดือนมิถุนายน 2565 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเกาหลีใต้ พุ่งขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 24 ปี (สถิติสูงสุดคือร้อยละ 6.8 เมื่อครั้งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากราคาต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น กอปรกับอุปสงค์การบริโภคภายในเกาหลีใต้ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 อีกทั้ง เกาหลีใต้ เป็น 1 ใน 5 ประเทศทั่วโลกที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซมากที่สุด  รัฐบาลและบริษัทพลังงานจึงไม่มีทางเลือกนอกจากการขึ้นค่าไฟและก๊าซตามผลพวงของกระแสโลกที่มีการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ

          การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค่าไฟฟ้าในเกาหลีใต้ได้ปรับขึ้นร้อยละ 4.3 จากราคาปัจจุบัน (ร้อยละ 11.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ซึ่งเท่ากับครัวเรือนขนาดกลาง (ผู้พำนักอาศัย 4 คน) ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 1,535 วอน (43 บาท) ต่อเดือน และคาดว่ารัฐบาลจะขึ้นค่าไฟอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2565 ส่วนค่าก๊าซได้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากราคาปัจจุบัน (ร้อยละ 19.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า)

มาตรการรับมือของรัฐบาลเกาหลีใต้

          เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (Bank of Korea: BOK) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 1.75 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 เดือนติดต่อกันเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 15 ปี และล่าสุดในการประชุมนโยบายวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 BOK ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.5 สู่ระดับร้อยละ 2.25 ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ BOK ปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงถึงร้อยละ 0.5 เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินวอนซึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การปล่อยให้ค่าเงินวอนอ่อน ถือเป็นการช่วยส่งเสริมสินค้าส่งออกของเกาหลีใต้ไปในตัว แต่ในแง่หนึ่งเกาหลีใต้ต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในราคาที่แพงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมัน ก๊าซ สินค้าอาหารต่าง ๆ ซึ่งกำลังส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน 

Untitled.png

          นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังอัดฉีดงบประมาณราว 8.1 แสนล้านวอน (625 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน โดยในจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็นการยกเลิกภาษีนำเข้าเนื้อวัว เนื้อไก่ 

และเนื้อหมูจนถึงสิ้นปี 2565 จำนวน 3.3 แสนล้านวอน และอีก 4.8 แสนล้านวอน จะถูกนำไปใช้สนับสนุนสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยในรูปแบบของโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 กระทรวงเศรษฐกิจและการเงินเกาหลีใต้ เผยว่า จะยกเลิกการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ โดยจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าประเภทอาหารเพิ่มอีก 7 ชนิด ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อไก่ นมผง เนื้อหมูสามชั้น ต้นหอม เมล็ดกาแฟ และวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเอทานอล

          แม้ว่าราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซยังคงปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าลดภาษีน้ำมัน (fuel tax) ลงอีกร้อยละ 37 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม ซึ่งเท่ากับลดลงลิตรละ 57 วอน (ราว 1.6 บาท) หลังจากได้ลดลงร้อยละ 30 แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม อีกทั้งยังลดภาษีรายได้ให้แก่ผู้ใช้บัตรเครดิตชำระค่าบริการขนส่งสาธารณะจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 80 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 และจะเพิ่มการอุดหนุนราคาน้ำมันให้แก่คนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งยกเลิกการกำหนดโควตาภาษีนำเข้าน้ำมันเครื่องบินสำหรับเที่ยวบินในประเทศ เพื่อลดแรงกดดันต่อราคาตั๋วเครื่องบินในประเทศ ตลอดจนจำกัดการขึ้นค่าสาธารณูปโภคให้มากที่สุดด้วยการคงค่าโดยสารรถไฟ ค่าน้ำและการบำบัดน้ำเสียในครึ่งหลังของปี 2565 แต่เปิดทางให้แก่การขึ้นค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซในประเทศ

          จากสถานการณ์เงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ผู้คนหันมาใช้บริการปั้มน้ำมัน savers station มากขึ้น และนิยมเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ หรือเดินมากกว่าเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์ส่วนตัว ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดรถยนต์ดีเซลต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จากสถิติของ Korea Automobile Manufacturers Association (KAMA) และ Korea Automobile Importers & Distributors Association (KAIDA) ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลในไตรมาสแรกของปี 2565 อยู่ที่ 43,517 คัน ลดลงประมาณร้อยละ 41.5 เมื่อเทียบกับยอดขายในช่วงเดียวกัน ของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 74,346 คัน นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2565 ปริมาณการบริโภคน้ำมันดีเซลในเกาหลีใต้ อยู่ที่ 11.715 ล้านบาร์เรล ลดลงร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (14.106 ล้านบาร์เรล) ซึ่งเป็น ปริมาณการบริโภคดีเซลที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ทั้งนี้ ด้านการประกอบอาชีพ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ผู้ขับรถ freelance เช่น รถตู้สำหรับกลุ่มทัวร์ มีการหยุดให้บริการมากขึ้นเนื่องจากผู้ขับส่วนใหญ่มักใช้รถของตัวเองและต้องออกค่าน้ำมันเอง (ได้รับเฉพาะค่าจ้างขับรถ) โดยจำนวนผู้ขับรถ freelance ในเกาหลีใต้ลดลงเหลือประมาณ 32,000 คน จากประมาณ 35,000 คนเมื่อปี 2564

          แม้ว่าการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ปี 2565 จะลดลงจากเดิมร้อยละ 3.1 เป็นร้อยละ 2.6 ทว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศอาจยังไม่ถึงกับเข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากดุลการชำระเงินระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้น และตลาดหุ้นยังทำกำไรได้ รวมถึงยังประกาศปรับเพิ่มค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำ เป็นร้อยละ 5 ในปี 2566 เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนจากภาวะอัตราเงินเฟ้อ

โอกาสของผู้ประกอบการไทย

                 เกาหลีใต้ถือเป็นอีกหนึ่งคู่ค้าสำคัญของไทย จากยอดการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปยังเกาหลีใต้ช่วงเดือน ม.ค. – พ.ย. 2564 พบว่าขยายตัวถึงร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ  โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ด้านผู้ประกอบการไทยที่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าดังกล่าว อาจใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) 2 ฉบับ ได้แก่ อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ซึ่งเกาหลีใต้ได้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าให้ไทยกว่าร้อยละ 90.9 ของรายการสินค้าทั้งหมด และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับเกาหลีใต้ไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อต่อยอดการส่งออกในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรรักษามาตรฐานของสินค้าส่งออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศปลายทาง รวมถึงเป็นการรักษาดุลการค้ากับเกาหลีใต้ให้ยาวนานขึ้น

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล

อ้างอิง:

ส่งออกไทยไปเกาหลีใต้ 2564 โต 39% ชี้เป้าใช้ FTA อาเซียน-เกาหลี และ RCEP เจาะตลาดช่วงขาขึ้น