เกาหลีใต้เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบาย Green New Deal

เกาหลีใต้เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบาย Green New Deal

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,732 view

รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญลำดับต้นกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ให้เป็นเศรษฐกิจสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 และสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้ภาคแรงงานและ SMEs โดยประธานาธิบดี มุนฯ ได้กล่าวในงาน International Day of Clean Air for Blue Skies ครั้งที่ 1 เมื่อ กันยายน 2563 ว่า รัฐบาลมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการออกนโยบายที่มีประสิทธิภาพ โดยนอกจากนโยบาย Carbon Neutrality 2025 แล้ว รัฐบาลจะผลักดันการเพิ่มจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศจาก 110,000 คันในปัจจุบันเป็น 1.13 ล้านคัน และยานยนต์ไฮโดรเจนจาก 8,000 คันในปัจจุบันเป็น 200,000 คัน ภายในปี 2568 นอกจากนี้ จะห้ามการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินใหม่และทยอยปิดโรงไฟฟ้าฯ เดิม รวมทั้งจะเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในจำนวน 3 เท่าของปัจจุบันภายในปี 2568

.

เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายข้างต้น รัฐบาลเกาหลีใต้ ได้เพิ่มมูลค่าของเงินอุดหนุนในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตเป็น 4.5 ล้านล้านวอน และได้ขยายระยะเวลาการมอบเงินอุดหนุนสำหรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าออกไปจนถึงปี 2568 จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในปี 2565 ในทางเดียวกันตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้น ไปยานยนต์ไฮโดรเจนที่ใช้ในเชิงพาณิชย์จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเมื่อทำการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปรถบรรทุกที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลเช่นกัน

.

การทดลองพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ (autonomous vehicle) ในเกาหลีใต้ขณะนี้อยู่ที่ขั้นเทคโนโลยีระดับที่ 3 ซึ่งเน้นให้ยานยนต์สามารถทำงานเองได้ในบางฟังก์ชั่น เช่น การเปลี่ยนเลนและจอดเข้าซองได้เองโดยไม่มีผู้ควบคุม โดยในระดับที่ 4 ยานยนต์จะสามารถทำงานเองได้เกือบสมบูรณ์แบบภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยไม่ต้องมีผู้ควบคุมพวงมาลัยแต่ยังต้องเข้าควบคุมยานพาหนะในสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน และในระดับที่ 5 จะสามารถทำงานเองได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่ต้องมีที่นั่งสำหรับคนขับ ไม่ต้องมีพวงมาลัย มีเพียงที่นั่งสำหรับผู้โดยสาร ทั้งนี้ ประโยชน์สูงสุดของยานยนต์ไร้คนขับคือการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและการช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้พิการในการขับรถ

.

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 รัฐบาลเกาหลีใต้ ประกาศว่าจะสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1.1 ล้านล้านวอนสำหรับการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ โดยงบประมาณส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของถนน ระบบควบคุมจราจร และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับยานยนต์ไร้คนขับ ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะผลิตยานยนต์ไร้คนขับที่มีเทคโนโลยีระดับที่ 4 ภายในปี 2570

.

ในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตของเกาหลีใต้ Hyundai Motor Group ถือว่าเป็นบริษัทชั้นนำด้านการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับ โดยในปี 2563 Hyundai ได้ประกาศยุทธศาสตร์ปี 2025 (Strategy 2025) ซึ่งประกอบด้วยการจัดสรรงบประมาณ 20 ล้านล้านวอนสำหรับการพัฒนายานยนต์แห่งอนาคต และในจำนวนนี้รวมงบประมาณ 9.7 ล้านล้านวอนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับโดยเฉพาะ โดย Hyundai มีแผนที่จะพัฒนายานยนต์ไร้คนขับที่มีเทคโนโลยีระดับที่ 3 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 และจะร่วมกับบริษัทชั้นนำของต่างประเทศในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับที่มีเทคโนโลยีระดับที่ 4 กับ 5 ต่อไป นอกจากนี้ ในปีนี้ Hyundai มีแผนที่จะเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้ารุ่น IONIQ5 และจะเปิดตัวอีก 3 รุ่นภายในปี 2567 ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าให้มียอดขาย 560,000 คันต่อปีภายในปี 2568

.

สำหรับการดำเนินนโยบายด้านรถไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดน สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมโดยรัฐบาลไบเดนมีแผนที่จะลงทุนในการพัฒนาฐานชาร์จแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้าและยกระดับยานยนต์ปัจจุบันของรัฐบาลเป็นยานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งประธานาธิบดีไบเดน ได้ให้คำมั่นว่าจะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนสู่อากาศของสหรัฐฯ ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์เดียวกับนโยบาย Carbon Neutrality 2025 ของรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยความเชื่อมโยงระหว่างสองนโยบายดังกล่าวเป็นหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่นายไบเดนชนะการเลือกตั้ง โดยหุ้นของบริษัท LG Chem ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.94 และหุ้นของบริษัท SK Innovation เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.95 ทั้งนี้ LG Chem มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่รัฐมิชิแกนและได้เริ่มก่อสร้างโรงงานแห่งที่สองที่รัฐโอไฮโอช่วงต้นปี 2563 ร่วมกับบริษัท General Motors และ SK Innovation อยู่ระหว่างการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่รัฐจอร์เจีย

.

การที่เกาหลีใต้กับสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวไปในทิศทางเดียวกันอาจเปิดช่องให้บริษัท Hyundai เล็งเห็นถึงศักยภาพในการขยายความร่วมมือกับสหรัฐฯ โดยการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและการตีตลาดสหรัฐฯ โดยล่าสุด Hyundai มีแผนที่จะขยายการส่งออกยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำนวน 10 รุ่นสู่ตลาดสหรัฐฯ ภายในปี 2565 และเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 ได้ปรากฏข่าวว่า Hyundai อาจร่วมมือกับบริษัท Apple ของสหรัฐฯ ในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ แต่จนถึงปัจจุบัน Hyundai ยังไม่ได้ยืนยันข่าวดังกล่าว โดยแจ้งเพียงว่า Hyundai ได้รับคำขอจากหลายบริษัทเพื่อจัดทำความร่วมมือด้านยานยนต์ไร้คนขับ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะตอบรับบริษัทใดอย่างเป็นทางการ โดยในส่วนของ Apple ก็ยังอยู่ระหว่างการหารือในระยะแรกเริ่มเท่านั้น

.

โดยไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 BOI ได้เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารอบใหม่ รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ณ กรุงโซล ได้กำหนดให้ยานยนต์แห่งอนาคตเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในการชักจูงการลงทุนจากเกาหลีใต้ในปีนี้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีบริษัทเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวในไทย จึงน่าจะเป็นโอกาสดีหากไทยจะพิจารณาจัดทำความร่วมมือกับเกาหลีใต้ ในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งน่าจะเอื้อประโยชน์ให้ไทยได้เรียนรู้จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเกาหลีใต้รวมทั้งโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคของประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจสีเขียว ตามนโยบาย Green New Deal ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมเป้าประสงค์ของไทยในการผลักดันให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ

.

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล

.

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://grist.org/beacon/moon-goes-green/

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง