ติดตามยุทธศาสตร์ “K-Battery” และ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของเกาหลีใต้

ติดตามยุทธศาสตร์ “K-Battery” และ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของเกาหลีใต้

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,917 view

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เปิดตัวยุทธศาสตร์ “K-Battery” เพื่อพัฒนาเกาหลีใต้ให้เป็นประเทศชั้นนําของโลกด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม Next-Generation Battery และตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมนี้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ (New Growth Driver) โดยมีแผนการดําเนินการที่สําคัญ เช่น การสร้าง “Next-Generation Battery Park” ภายในปี 2569 เพื่ออํานวยความสะดวกให้กับการวิจัยและทดลองของบริษัทเกาหลีใต้ในการจัดตั้งกองทุนมูลค่า 80 พันล้านวอนเพื่อสนับสนุนโครงการ R&D และการมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้บริษัทผลิตแบตเตอรี่ ได้รับการลดภาษีในอัตราร้อยละ 50 สําหรับการใช้จ่ายด้าน R&D และร้อยละ 20 สําหรับการลงทุน ด้านสาธารณูปโภค โดย กลุ่ม Chaebol ทั้ง 3 รายของเกาหลีใต้ ที่เป็นผู้นําในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ได้แก่ LG Energy Solution, SK Innovation, และ Samsung SDI ได้ประกาศว่าจะลงทุนรวมกันเป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านล้านวอน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ดังกล่าว และเพิ่มการผลิตและส่งออกแบตเตอรี่ในระยะ 10 ปีข้างหน้า ตามเป้าหมายที่รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งไว้ว่าจะเพิ่มการส่งออกแบตเตอรี่จากมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 เป็น 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573 ทั้งนี้ ในปี 2563 เกาหลีใต้ครองสัดส่วนร้อยละ 44.1 ของตลาดถ่านชาร์จ (Rechargeable battery) ของโลก จนสามารถแซงหน้าจีนและญี่ปุ่นได้ ขณะที่กลุ่ม Chaebol 3 รายข้างต้น ครองสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของตลาด EV battery ของทั้งโลก

.

เกาหลีใต้นับเป็นประเทศลำดับที่ 14 ในโลกที่ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยเรื่อง Carbon Neutrality โดยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 รัฐสภาเกาหลีใต้ได้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 109 ต่อ 42 ซึ่งกําหนดให้รัฐบาลเกาหลีใต้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 35 หรือมากกว่าจากระดับปี 2561 ภายในปี ค.ศ. 2573 โดยเป้าหมายดังกล่าวยังสามารถถูกปรับแก้ไขให้เคร่งครัดขึ้นได้อีกในภายหลัง ด้วยคําสั่งของประธานาธิบดีในระยะต่อไป ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้จะหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนเพื่อจัดทําร่าง 2030 Nationally Determined Contributions (NDC) ของเกาหลีใต้ และจะเผยแพร่ในการประชุม UNCCC (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ในเดือนพฤศจิกายน 2564 อย่างไรก็ดี สมาคมธุรกิจบางแห่งในเกาหลีใต้ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวว่าจะเป็น การบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ยังต้องพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมการผลิต

.

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 บริษัท LG Electronics ประกาศว่าจะเข้าร่วมการรณรงค์ “Business Ambition for 1.5°C” ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการเชิญชวนให้บริษัททั่วโลกร่วมออกมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยเป้าหมายในการจํากัดระดับอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5°C รวมทั้งเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดย LG เป็นบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้แห่งแรกที่เข้าร่วมการรณรงค์ดังกล่าว และได้ประกาศข้อริเริ่ม “Zero Carbon 2030” อีกด้วย ซึ่งเป็นแผนการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในขั้นตอนการผลิตสินค้า LG ให้ได้ร้อยละ 50 จากปี 2560 ภายในปี 2573 รวมทั้งจะดําเนินการเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทอีกด้วย

.

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี มุน แจ-อิน ได้กล่าวถ้อยแถลงผ่านระบบวีดิทัศน์ในงาน International Day of Clean Air for Blue Skies ครั้งที่ 2 ว่า เกาหลีใต้จะเพิ่มปริมาณโรงงานและสาธารณูปโภคที่รองรับพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมให้มากกว่า 2 เท่าของปัจจุบัน ภายในปี 2568 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มกําลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม จากเดิมที่ผลิตรวมสองอย่างได้ 17.6 กิกะวัตต์ ในปี 2563 เป็น 42.7 กิกะวัตต์ ภายในปี 2568 เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ตามนโยบาย Green New Deal ซึ่งรวมถึงเป้าหมายด้าน Carbon Neutrality ซึ่งหากสําเร็จ จะสร้างโอกาสในการประกอบธุรกิจและการลงทุนให้กับบริษัทเกาหลีใต้ในอุตสาหกรรมสีเขียว เช่น แบตเตอรี่ และไฮโดรเจน

.

ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวในการผลักดันอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก สู่ความยั่งยืนด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม เกาหลีใต้นับเป็นหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนในแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า อาจมองเกาหลีใต้เป็นแหล่งร่วมวิจัยเพื่อพัฒนาหรือนำเข้าแบตเตอรี่ ถึงแม้ว่าในขณะนี้ ไทยจะยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าในสายตาประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมากนัก แต่มีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และชิ้นส่วนรถยนต์ ในอาเซียนอย่างมาก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจศึกษาและพิจารณาการลงทุนด้านนี้ในพื้นที่ EEC เนื่องจากจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมประเทศได้ต่อไปในอนาคต

.

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง