ตามติดสถานการณ์เศรษฐกิจเกาหลีใต้ช่วงครึ่งแรกของปี 2564

ตามติดสถานการณ์เศรษฐกิจเกาหลีใต้ช่วงครึ่งแรกของปี 2564

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,166 view

ภาพรวม

.

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการฟื้นตัว โดยตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สําคัญ คือ การส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดอืนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2564) เนื่องจากเกาหลีใต้มีฐานการผลิตที่กว้าง ครอบคลุมสินค้าประเภทต่าง ๆ ที่เป็นที่ต้องการในตลาด ต่างประเทศและประเทศคู่ค้าที่สําคัญของเกาหลีใต้ เช่น จีน สหรัฐฯ และยุโรป เมื่อเศรษฐกิจในประเทศเหล่านั้นเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติการระบาดของโรค COVID-19 จึงทําให้เกาหลีใต้ สามารถขยายการส่งออกไปประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี แบตเตอรี่สํารอง และ biohealth อย่างไรก็ดี ปัญหาหนักที่รัฐบาลเกาหลีใต้กําลังเป็นกังวลและต้องเร่งหาทางแก้ไข คือ การเพิ่มขึ้นของหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงมาก คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 104 ของ GDP ในปัจจุบัน

.

ในขณะนี้ เกาหลีใต้กําลังเผชิญกับการระบาดของโรค COVID-19 ระลอกที่ 4 ซึ่งธนาคารกลางเกาหลีใต้ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ เนื่องจากการฟื้นตัวของการส่งออก และการดําเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวของรัฐบาล จะลดผลกระทบที่เกิดจากการลดลงของการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ ธนาคารกลาง เกาหลีใต้ยังคงประมาณการว่า GDP เกาหลีใต้จะเติบโตร้อยละ 4 ในปีนี้และร้อยละ 3 ในปี 2565 

.
อย่างไรก็ดี ในปีนี้การซื้อขายในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ประสบปัญหาการเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ โดยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ยกเว้นในเดือนเมษายน 2564 มีการขายหุ้นสุทธิโดยนักลงทุนต่างชาติ 26.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2564) โดยมีสาเหตุหลักจากการมีข้อกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงนโยบายผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยลดการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินในปีนี้ และยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ จากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 4 ดังนั้น ตลาดหุ้นของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกของเกาหลีใต้ จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากความไม่มั่นใจของนักลงทุน

.

สถานการณ์การส่งออก-นําเข้า 

.

กระทรวงการค้าอุตสาหกรรมและพลังงาน (MOTIE) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 53.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้นร้อยละ 34.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 และเป็นยอดที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมของทุกปี (ก่อนหน้านี้ยอดที่สูงที่สุดได้แก่ 51.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อสิงหาคม 2561) โดยมีปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของสินค้าส่งออกสําคัญประเภทเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ และปิโตรเลียม โดยยอดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ พุ่งขึ้นร้อยละ 43 และยอดส่งออกรถยนต์ปรับตัวขึ้นร้อยละ 16.9 (รถ SUV ราคาสูงและ EV มียอดขายพุ่งสูงขึ้น) ด้านชิ้นส่วนยานยนต์ร้อยละ 22.4 และยอดส่งออกสินค้าปิโตรเลียมสูงขึ้นถึงร้อยละ 81.5 อันเป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และอุปสงค์ของอุตสาหกรรมยานยนต์และการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศต่าง ๆ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าประเภท biohealth เครื่องสําอาง และแบตเตอรี่สํารองก็เพิ่มขึ้นในอัตราสูง
ยอดนําเข้าเดือนสิงหาคม 2564 ของเกาหลีใต้ ยังพุ่งขึ้นร้อยละ 44 แตะที่ระดับ 51.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ เกาหลีใต้มียอดเกินดุลการค้า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการเกินดุลติดต่อกันยาวนานถึง 16 เดือน อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ Delta อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2564 และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกาหลีใต้ตั้งเป้าจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ร้อยละ 4.2 ในปีนี้

.

สำหรับผู้ประกอบการไทย สถานการณ์เศรษฐกิจของเกาหลีใต้โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ถือเป็นสภาวะที่ค่อนข้างเสี่ยง นักลงทุนไทยควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการลงทุน อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคการนำเข้ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเครื่องใช้  อย่างเครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ควรเร่งสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศเกาหลีใต้ให้ยังคงนำเข้าสินค้าจากผู้ประกอบการไทยต่อไป

.

สถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงโซล

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง