ส่องแผนยุทธศาสตร์ของเกาหลีใต้ สู่การเป็น global vaccine hub

ส่องแผนยุทธศาสตร์ของเกาหลีใต้ สู่การเป็น global vaccine hub

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,592 view

การดําเนินการภายในประเทศ 

.

รัฐบาลเกาหลีใต้ อัดฉีดงบประมาณ จํานวน 2.2 ล้านล้านวอน (1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ดังนี้

.

(1) สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสําหรับ R&D และการอํานวยความสะดวกสําหรับการลงทุนด้านวัคซีน

(2) การพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตวัคซีนของเกาหลีใต้ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ 100% ในการผลิตวัตถุดิบส่วนประกอบและอุปกรณ์ที่สําคัญ

(3) การสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญเพิ่มในอุตสาหกรรมยาชีวเภสัชภัณฑ์ ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 200 คนต่อปี ผู้เชี่ยวชาญด้านการทดลองทางคลินิก 10,000 คนต่อปี และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต 2,000 คนต่อปี

(4) การจัดตั้งเขตการลงทุน high-tech ซึ่งจะมอบสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุน

.

ด้านการพัฒนาวัคซีน COVID-19 โดยบริษัทเกาหลีใต้ รัฐบาลมีแผนจะจัดสรรงบประมาณ จํานวน 166.7 พันล้านวอน (145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2564 เพื่อสนับสนุนการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของบริษัทท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการผลิตวัคซีน COVID-19 จำนวน 7 ราย โดยบริษัท SK Bioscience ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ คาดว่าจะเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้รัฐบาลจะลดระยะเวลาการอนุมัติการทดลองทางคลินิกให้เหลือครึ่งหนึ่งของระยะเวลาในปัจจุบัน และจะส่งเสริมให้มีการบูรณาการ การประเมินผลการทดลองทางคลินิกระหว่างหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทดลองทางคลินิก เพื่อให้กระบวนการผลิตและอนุมัติการจําหน่ายวัคซีนทั้งหมดรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจําหน่ายวัคซีน COVID-19 ที่ผลิตโดยบริษัทของเกาหลีใต้ ในเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

.

การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนตามเป้าหมาย global vaccine hub

.

(1) Task Force on Global Vaccine Hub (จัดตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2564) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้เป็นประธาน และผู้แทนจากส่วนราชการ 10 แห่ง ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตวัคซีนของเกาหลีใต้ โดยเห็นพ้องให้มีการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาวัตถุดิบ กระบวนการผลิตและกระจายวัคซีน พร้อมทั้งเตรียมมาตรการอํานวยความสะดวกด้านกฎระเบียบและสนับสนุนงบประมาณสําหรับการผลิตวัคซีนในประเทศ

.

(2) Global Vaccine Hub Preparatory Committee (จัดตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2564) มีนายกรัฐมนตรี Kim Boo-kyum เป็นประธาน ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวง METI กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น บริษัทยา SK Bioscience บริษัท Samsung Biologics บริษัท ST Pharm and Ecell สมาคมและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ IVI และ Bio-Pharma Manufacturers Association Korea Biomedicine Industry Association ผนวกกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์อีกมากมาย โดยผู้เข้าร่วมทั้งหมดนี้ มีภารกิจหลักในการจัดทํายุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมาย global vaccine hub

.

ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ

.

ปัจจุบันรัฐบาลเกาหลีใต้ดําเนินนโยบาย vaccine diplomacy อย่างจริงจัง โดยการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ของประธานาธิบดี มุนฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 โดยเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วนวัคซีน เกาหลีใต้-สหรัฐฯ (KORUS Global Vaccine Partnership) ด้วยการผนึกกําลังและความร่วมมือในสาขายาชีวเภสัชภัณฑ์ระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อรับมือกับโรค COVID-19 และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสาธารณสุขของโลก โดยจะนําจุดแข็งของแต่ละประเทศมาใช้ประโยชน์ กล่าวคือ ความสามารถด้านการผลิตยาชีวเวชภัณฑ์ของเกาหลีใต้มารวมกับเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนและอุปทานด้านวัตถุดิบการผลิตวัคซีนของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ในระหว่างการเยือนข้างต้น ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลง ดังนี้

.

(1) ความตกลงระหว่างบริษัท Samsung Biologics กับบริษัท Moderna เพื่อผลิตวัคซีน Moderna ที่โรงงานของบริษัท Samsung Biologics ในเกาหลีใต้

(2) การลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงการค้าอุตสาหกรรมและพลังงานเกาหลีใต้ (METI) และสาธารณสุขเกาหลีใต้ กับบริษัท Moderna เพื่อสนับสนุนการการผลิตวัคซีนชนิด mRNA ในเกาหลีใต้

(3) การลงนาม MOU ระหว่างบริษัท SK Bioscience และสาธารณสุขเกาหลีใต้ รวมถึงบริษัท Novavax ด้านการพัฒนาและผลิตวัคซีน

.

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้ลงนาม MOU สําหรับ KORUS Global Vaccine Partnership อย่างเป็นทางการ ในระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี มุนฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุม UNGA โดยในโอกาสนี้ บริษัท Cytiva ซึ่งผลิตวัตถุดิบสําหรับวัคซีนได้ประกาศว่าจะทุ่มทุน 52.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2022-2024 เพื่อจัดตั้งโรงงานในเกาหลีใต้ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการผลิตของบริษัทฯ ในเอเชีย เพื่อผลิต disposable cell culture fluid ซึ่งเป็นส่วนประกอบสําคัญในการผลิตวัคซีนและกําลังขาดตลาดอยู่ทั่วโลก และในระยะต่อไป เกาหลีใต้จะขยายความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนด้านวัคซีนกับประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม ได้แก่ เยอรมัน สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

.

เป้าหมายในการเป็น global vaccine hub ถือเป็นโอกาสที่ดีต่อภาคอุตสาหกรรมไทยที่ทำธุรกิจในสาขาเวชภัณฑ์ ชีวภาพ การผลิตวัคซีนและยา โดยภาคธุรกิจไทยอาจพิจารณาโอกาสต่อยอดความร่วมมือ เชิญชวนนักธุรกิจเกาหลีใต้ร่วมลงทุน ตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยเพื่อเป็นแหล่งผลิตและกระจายสินค้าไปในภูมิภาค นอกจากนี้ นโยบายการจัดตั้งเขตการลงทุน high-tech ถือเป็นอีกช่องทางที่ภาคอุตสาหกรรมไทยที่ทำธุรกิจด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการส่งออกอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ สามารถใช้สิทธิประโยชน์เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอนาคตต่อไป

.

สถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงโซล

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง