(7) 'เดอะมั๊งค์สตูดิโอ' แอนิเมชันไทยในตลาดโลก

(7) 'เดอะมั๊งค์สตูดิโอ' แอนิเมชันไทยในตลาดโลก

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มิ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,721 view

อุตสาหกรรมดิจิทัลคือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมุ่งหวังจะใช้เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีประเภทธุรกิจกระจายไปอย่างกว้างขวางหนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการผลิตเผยแพร่ จำหน่าย และให้บริการด้านดิจิทัลคอนเทนต์อาทิ แอนิเมชัน ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์การ์ตูน และคาแรกเตอร์ ดนตรี เกมดิจิทัลซึ่งผู้ประกอบการไทยประกอบธุรกิจนี้อยู่จำนวนมาก

เดอะมั๊งค์ สตูดิโอ คือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการไทยทางด้านแอนิเมชันที่มีความโดดเด่นได้รับการยอมรับในระดับสากล มีผลงานปรากฏทั้งในรูปแบบภาพยนตร์แอนิเมชัน ทีวีซีรีส์ รวมถึงวิดีโอในเกม ทั้งในตลาดฮอลลีวูด ยุโรป จีน และญี่ปุ่นรวมถึงในผลงานของผู้ให้บริการสตรีมมิงชื่อดังอย่างเน็ตฟลิกซ์

THAI_BIZ_7_(1)  

คุณนิธิพัฒน์ สมสมาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะมั๊งค์ สตูดิโอ จำกัดเล่าว่างานที่บริษัททำเกือบทั้งหมดจะเป็นลูกค้าต่างประเทศ โดยบริษัทมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นธุรกิจครอบครัวโดยน้องชายของตนเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านแอนิเมชันที่ประเทศสหรัฐอเมริกามากว่าสิบปี จึงมาปรึกษากันว่า ทำไมไม่เปิดบริษัทในประเทศไทยแทนที่จะกลับไปทำงานในสหรัฐอเมริกาและเป็นที่มาของบริษัท เดอะมังค์ สตูดิโอ จำกัด

คุณนิธิพัฒน์เล่าอีกว่าตั้งใจจะรับทำงานคุณภาพสูงมากระดับฮอลลีวูดหรือระดับสากล เป็นงานที่ไม่เร่งรีบ ด้วยความอยากประณีตกับการทำงานดังนั้นราคาที่รับก็จะเป็นราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพของงาน และเป็นเหตุให้งานที่ทำส่วนใหญ่เป็นงานจ้างจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยข้อดีของการทำงานกับต่างประเทศคือ ทำให้บริษัทได้เรียนรู้และสามารถยกระดับผลงานของตัวเองได้

การสร้างสรรค์ผลงานของเดอะมั๊งค์สตูดิโอ เองเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังจากที่สะสมประสบการณ์ในการรับจ้างผลิตมาระยะหนึ่ง บริษัทเริ่มผลิตแอนิเมชันสั้นความยาว 5-10 นาทีส่งประกวดโดยเริ่มจากเรื่องแรกคือ Escape of the Gingerbread Man!!! เป็นการดัดแปลงนิทานพื้นบ้านไอริชมาพัฒนาเป็นแอนิเมชัน โดยใช้ผู้กำกับจากสหรัฐอเมริกาภาพยนตร์เรื่องนี้คว้ารางวัลมา 16 รางวัลจากงานประกวดและเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลกซึ่งผลที่ตามมาคือ มีผู้มาจ้างงานบริษัทจากผลงานเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการเติบโตของบริษัท

คุณนิธิพัฒน์สรุปการเติบโตของบริษัทว่า ในช่วงแรกบริษัทเน้นรับจ้างผลิตงานให้กับลูกค้าจากทั่วโลกเป็นหลัก เมื่อมีความมั่นคงเพิ่มขึ้นจึงเพิ่มสัดส่วนของงานที่ผลิตเองเป็นผลงานของบริษัทแบบ 100% เพิ่มขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าหมายในอนาคต สัดส่วนการรับจ้างผลิตและผลงานของบริษัทเองจะอยู่ที่ประมาณอย่างละครึ่งจากปัจจุบันที่การรับจ้างผลิตคิดเป็นประมาณ 70% และการผลิตผลงานของบริษัทเอง 30%

THAI_BIZ_7_(2)

อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยยังไปได้อีกไกล

ข้อดีของอุตสาหกรรมดิจิทัลข้อหนึ่งคือ หากมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้

คุณนิธิพัฒน์เล่าถึงสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาว่า“ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงที่งานเราเยอะมาก เพราะว่าทั่วโลกมีล็อกดาวน์ หลายประเทศทำงานไม่ได้ เขาก็ถามมาว่าเราทำงานได้หรือไม่ เราก็บอกว่า เราทำได้เพราะว่าส่วนใหญ่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวอยู่แล้ว เราจึงให้พนักงานทำงานที่บ้านได้อุตสาหกรรมนี้ไม่ต้องการการขนส่งทุกอย่างออนไลน์หมดถึงเวลาก็ส่งออนไลน์ไปเป็นโอกาสดีของเราในช่วงนี้”

ในช่วงแรกเดอะมั๊งค์ สตูดิโอ เน้นการสร้างทีมงานที่มีความสามารถ โดยดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาช่วยเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้กับพนักงานคนไทย และเมื่อบริษัทพัฒนามากขึ้นก็เปลี่ยนเป็นการรับคนต่างชาติที่สนใจจะทำงานร่วมกับบริษัทมาทำงานเพิ่มขึ้น

“บีโอไอให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ก็ต้องขอบคุณบีโอไอที่ทำให้มีโอกาสสิทธิที่เราได้จากบีโอไอมี 3 เรื่อง 1)ภาษีเงินได้นิติบุคคล 2)การนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้ามา และ3)เรื่องการนำเข้าเครื่องจักรแต่เราไม่ได้ใช้ เพราะเบสเราคือคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีในประเทศอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องนำเข้าเท่าไร”

THAI_BIZ_7_(3)  

ภาครัฐช่วยหนุนให้โตได้

คุณนิธิพัฒน์ให้ความเห็นว่าด้านการตลาดทูตพาณิชย์ของประเทศไทยมีส่วนช่วยนำผู้ประกอบการไทยไปพบกับลูกค้าในต่างประเทศ ช่วยเปิดโอกาสใหม่ให้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายมาตรการที่ภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยได้

อีกด้านหนึ่งการสร้างสรรค์งานที่เป็นของตนเองซึ่งมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าการรับจ้างผลิตแต่การสร้างงานขึ้นมาสักชิ้นหนึ่งต้องทุมเททั้งเวลา บุคลากร และทุนในหลายประเทศภาครัฐจะมีกองทุนสนับสนุนให้เอกชนเป็นทุนเริ่มต้นให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปเริ่มทำงานรวมไปถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ค้ำประกันเงินกู้หากประเทศไทยมีมาตรการในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างงานและนำไปขยายผลในต่างประเทศต่อไปได้ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมด้านนี้ของประเทศไทยเติบโตได้อีกมาก

 

 

อ่านต่อที่

1. บทความที่แปลเป็นภาษาเกาหลี

https://blog.naver.com/thaibiz_diary/222390945951

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ