(19) เครื่องดื่มแนวใหม่“เซ็ปเป้” สำเร็จได้ เพราะไม่หยุดคิด

(19) เครื่องดื่มแนวใหม่“เซ็ปเป้” สำเร็จได้ เพราะไม่หยุดคิด

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,519 view
 
 

(19)_เครื่องดื่มแนวใหม่“เซ็ปเป้”_สำเร็จได้_เพราะไม่หยุดคิด

 

 

จากความคิดที่ว่า “ถ้ามีอะไรสักอย่างที่กินแล้วดูดีก็คงจะขายดี”ได้ตีตลาดเครื่องดื่มสุขภาพกระเจิดกระเจิง ด้วยตัวเลขทางสถิติล่าสุด เพียง 1 นาที มียอดขาย 99 ขวด นั่นหมายความว่า 1 ปี มียอดขายแล้วกว่า 52 ล้านขวด เขาทำได้อย่างไร เรื่องเล่าความสำเร็จวันนี้มีคำตอบ

จุดเริ่มเครื่องดื่มสุขภาพ

นายอดิศักดิ์ รักอริยะพงศ์ (ก้อง) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรัพย์อนันต์ เยนเนอรัลฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแนวใหม่ เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์ เล่าว่า บริษัททรัพย์อนันต์ คือธุรกิจเดิมของครอบครัวที่บุกเบิกมาสมัยคุณพ่อ-คุณแม่ (คุณอนันต์-คุณสมนึก รักอริยะพงศ์) เป็นธุรกิจทำขนม เช่น คุกกี้

ทำขนมขายอยู่ดีๆ ทำไมกลายเป็นบริษัทเครื่องดื่มไปได้....CEO เล่าว่า “ด้วยความที่ทางบ้านทำธุรกิจ ขายขนมส่งร้านโชห่วย วันหนึ่งคุณพ่อผมท่านได้ไปคุยกับเซลส์ขายน้ำผลไม้ ท่านจึงเกิดไอเดีย อยากจะทำน้ำผลไม้บรรจุขวดขึ้นมาบ้าง นั่นคือจุดเปลี่ยนของทรัพย์อนันต์ครั้งสำคัญ”

(19)_เครื่องดื่มแนวใหม่“เซ็ปเป้”_สำเร็จได้_เพราะไม่หยุดคิด_(2)

พ่อคิด-ลูกเพิ่ม

“ขณะที่คุณพ่อกำลังเริ่มทำธุรกิจน้ำผลไม้ ผมก็เรียนจบจากญี่ปุ่น และเพิ่งกลับเมืองไทยได้ไม่นาน พ่อก็บอก ผมว่า ตอนนี้ท่านกำลังมีโปรเจกต์นี้นะ ผมคิดในใจว่าถ้าเป็นน้ำผลไม้ธรรมดา จะไปสู้กับยักษ์ใหญ่ในตลาด ก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราก็ต้องมีความแตกต่าง แล้วเผอิญผมเคยไปสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องวุ้นมะพร้าว มันก็เลยได้ไอเดียตอนนั้นว่า ถ้าจะขายน้ำผลไม้เราต้องแตกต่างด้วยการนำวุ้นมะพร้าวเข้ามาเป็นส่วนผสม อยู่ในน้ำผลไม้ด้วย จากนั้นพอได้ไอเดียผมก็ลองทำออกมาชิมกันดูก่อน ปรากฏว่าอร่อยเราก็เลยเริ่มจากตรงนั้น”

แจ้งเกิดโมกุ โมกุ

ตอนขายครั้งแรกหน้าตาของน้ำผลไม้ช่วงทดลองเพียงแค่เครื่องดื่มบรรจุขวดธรรมดา ยังไม่น่าสนใจ แต่ว่า ขายดี ผู้บริหารจึงคิดว่าน้ำผลไม้นี้ควรที่จะมียี่ห้อ มีชื่อ มีฉลากที่ดูสวยงามกว่านี้ ดังนั้นน้ำผลไม้ดังกล่าว จึงได้ชื่อเป็นทางการว่า โมกุ โมกุ นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ภูมิใจในสิ่งที่ถูกมากกว่ายอดขาย

“คราวนี้เราปรับตัวเองด้วยการเพิ่มคุณค่าที่แท้จริงลงไปในน้ำผลไม้ ส่วนประกอบแท้จริงใส่ได้กี่เปอร์เซ็นต์ คุณค่าที่เขาจะได้รับเท่าไหร่ แม้ว่าการทำแบบนี้จะส่งผลให้โมกุ โมกุ มีต้นทุนที่สูงขึ้น จนต้องขยับราคาขาย ให้สูงกว่าแบรนด์อื่นเล็กน้อยก็ตาม แต่เราสบายใจที่จะทำให้ถูกต้อง และตรงไปตรงมา แม้ว่ายอดขายอาจ ไม่กระฉูดเท่าเดิมก็ตาม อย่างน้อยเราก็ภูมิใจว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้เอาเปรียบผู้บริโภคแน่นอน”

เซ็ปเป้ บุกยุโรป

“ส่วนการไปเปิดตลาดยุโรปทำมาประมาณปีกว่าถือว่าผลตอบรับดี แม้จะไม่เปรี้ยงปร้าง ทว่าก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจแล้วสำหรับการได้เริ่มต้นทำธุรกิจ อีกทั้งการไปมีฐานผลิตที่นั่น จะทำให้สินค้าเรามีความสดใหม่กว่าการผลิตในประเทศ แล้วต้องเสียเวลาตั้งแต่ออเดอร์ ผลิต ขนส่ง ซึ่งกินเวลามากพอสมควร เพราะผมเชื่อว่า ของกินมันต้องสดใหม่ ทั้งรสชาติ สารอาหารยังได้ครบถ้วนสมบูรณ์ กว่าของเก่าอยู่แล้ว”

​   

(19)_เครื่องดื่มแนวใหม่“เซ็ปเป้”_สำเร็จได้_เพราะไม่หยุดคิด_(3)

เลือก “ทำ” ในสิ่งที่ไม่มีใครทำ!

“เราชอบที่จะเป็นคนที่ทำอะไรที่ไม่มีใครทำกัน หรือยังไม่ได้ทำ เพื่อจะเป็นตัวเลือกใหม่ๆ มาตอบโจทย์ผู้บริโภค อย่างเช่นบิวติดริ้งค์ที่มีแรงบันดาลใจจากความคิดว่า เราจะทำอะไรที่มันดื่มแล้วเห็นผลดี คือ ถ้ามีอะไรที่กินแล้วสวย กินแล้วผอม หรือว่ากินแล้วขาว พวกนี้มันน่าจะโดนใจตลาดมากที่สุด เราจึงคิดต่อยอดจุดนี้ออกมา เป็นบิวติดริ้งค์ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครคิดทำเครื่องดื่มที่ผสมคอลลาเจน ไฟเบอร์ ฯลฯ แต่พอเราทำออกมา มันก็เริ่มเป็นกระแสเครื่องดื่มประเภทเดียวกันออกมามีมากขึ้น”

เทคนิคการตลาดสไตล์เซ็ปเป้

“ผมว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จในการทำการตลาด ถ้าสินค้าคิดออกมาแล้วตรงใจผู้บริโภคผมว่าแบบนี้มีสิทธิ์เกิด สินค้าสร้างมูลค่า คุณค่าให้ผู้บริโภคได้ ก่อนหน้านี้เราไม่ได้เน้นเรื่องแบรนดิ้ง เราเน้นขายอย่างเดียว ทั้งที่ขายดีมาก แต่ไม่มีใครจดจำชื่อแบรนด์ได้ จึงปัจจุบันเราเริ่มที่จะมุ่งเน้นการสร้างชื่อแบรนด์ เพื่อให้คนรู้จักมากขึ้น ด้วยการโปรโมตแบรนด์เซ็ปเป้มากขึ้น เพื่อให้คนเห็นโลโก้เราปุ๊บเขารู้จักทันที เฉกเช่นกับแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลกอย่างไนกี้ที่ใครเห็นโลโก้ ก็สามารถรับรู้ได้ทันทีว่านี่คือแบรนด์อะไร และนี่คือความฝันของนักการตลาด”

คีย์ซัคเซสของเซ็ปเป้

“อยู่ที่การไม่หยุดคิด การได้พัฒนาอะไรใหม่ๆ ได้พัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ ทำให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่ดีขึ้น คิดถึงลูกค้าเป็นที่ตั้งมากกว่ากำไร เพราะอันดับแรก คือประโยชน์ของผู้บริโภค แม้ว่ากำไรจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อน แต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับแรก ประโยชน์ของผู้บริโภคสำคัญกว่า ขณะเดียวกันตัวสินค้า ก็ต้องตอบโจทย์ด้วย หรือหากในแง่ของการบริหาร ก็ต้องทำให้พนักงานเราทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วสิ่งเหล่านี้เมื่อโยงกันมันจะเชื่อมเราไปสู่ความสำเร็จ ได้อย่างยั่งยืน”

 

​   

อ่านต่อที่

1. บทความที่แปลเป็นภาษาเกาหลี

https://blog.naver.com/thaibiz_diary/222449410005

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง